ค้นหาบล็อกนี้

Page Nav

HIDE

Grid

GRID_STYLE

Hover Effects

TRUE

Gradient Skin

{fbt_classic_header}

Update News:

latest

นางร้องไห้ ธรรมเนียมที่หายไป จากการพระศพเจ้านาย

นางร้องไห้ ธรรมเนียมที่หายไป จากการพระศพเจ้านาย

 เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ สดาวัลย์ ได้รับคัดเลือกเป็นนางขับร้องในวงมโหรีร้องถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


นางร้องไห้” เป็นอีกธรรมเนียมหนึ่งในพิธีของราชสำนัก ที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยแด่ผู้ล่วงลับ


การมีนางร้องไห้ในราชสำนักอาจได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากชนชาติ “มอญ” ในประเพณีมอญมีพวกรับจ้างร้องไห้ มีเสียงร้องทำนองโอดครวญ จนนำมาตั้งเป็นชื่อทำนองเพลงว่า “มอญร้องไห้”

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานการมีนางร้องไห้ในคำให้การ “ขุนหลวงหาวัด” อธิบายถึงการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ว่าได้เกณฑ์นางสนมกำนัลมาเป็นนางร้องไห้ ซึ่งในการร้องไห้จะควบคู่การประโคมมโหรีปี่พาทย์ 

“แล้วจึงกะเกณฑ์ให้พระสนมกำนับทั้งปวงมานั่งห้อมล้อมพระบรมศพ แล้วก็ร้องไห้เป็นเวลาหน้าที่เป็นอันมาก แล้วมีนางขับรำเกณฑ์ทำมโหรี กำนัลนารีน้อยๆ งามๆ ดั่งกินนร กินนรี มานั่งห้อมล้อม ขับรำทำเพลงอยู่เป็นอันมาก แล้วจึงให้ประโคมฆ้อง กลอง แตรสังข์ และมโหรีปี่พาทย์อยู่ทุกเวลา”

บทเพลง นางร้องไห้ มีอยู่ทั้งหมด 5 บท ดังนี้
1 พระร่มโพธิ์ทอง พระพุทธเจ้าข้าเอย พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
2 พระเสด็จไปสู่สวรรค์ชั้นใด ละข้าพระบาทยุคลไว้ พระพุทธเจ้าข้าเอย พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
3 พระยอดฟ้า พระสุเมรุทอง พระพุทธเจ้าข้าเอย พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
4 พระเสด็จผ่านพิภพแห่งใด ข้าพระบาทจะตามเสด็จไป พระพุทธเจ้าข้าเอย
5 พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย


ธรรมเนียมการพระศพนี้ ทำสืบเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1  ซึ่งมีนางร้องไห้ และประโคมกลองชนะตามเวลา เหมือนอย่างพระมหากษัตริย์แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

วิธีการร้องไห้ต้องใช้คนจำนวนมาก ส่วนใหญจะใช้นางพระสนม นางพระกำนัล หรือผู้ที่ได้ถวายตัว มีต้นเสียง 4 คน และมีคู่ร้องรับประมาณ 80-100 คน

ครั้งสุดท้ายที่มี “นางร้องไห้” ตามราชประเพณี คืองานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัด “นางร้องไห้” คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี โดยให้เจ้าจอมและพนักงานคอยร้องให้ตามบท ในเวลาประโคมย่ำยาม คือ ย่ำรุ่ง เที่ยง ย่ำค่ำ ยาม สองยาม สามยาม มีเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เจ้าจอมพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 5 เป็นต้นเสียงร้องนำ

เนื้อหาของคำร้องไห้ เป็นการถวายความจงรักภักดี ที่เหล่าข้าบาทบริจาริกาขอตามไปปรนนิบัติยังสรวงสวรรค์ และถึงกับมีเรื่องเล่าในราชสำนัก ตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าไว้ในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ว่า ...

ได้ยินเขาเล่ากันว่า ทูลกระหม่อมปู่ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) เมื่อเสด็จลงไปเยี่ยมพระบรมศพเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 ได้ทรงฟังนางร้องไห้ มีกระแสรท้วงว่า..ถ้าใครๆ ก็จะขอตามเสด็จไปเสียหมดแล้วใครจะอยู่รับใช้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่เล่า? .. ครั้งนั้นเลยต้องงดนางร้องไห้ ในเวลาที่ทูลกระหม่อมปู่เสด็จลงไปอยู่ที่พระมหาปราสาท”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า “ให้รู้สึกรกหูเสียจริงๆ และร้องซ้ำไปซ้ำมา ไม่เป็นการร้องไห้จริงๆ กับทั้งยังส่งเสียงรบกวนเวลาที่พระกำลังถวายพระธรรมเทศนา รวมไปถึงความประพฤติของผู้ที่ไปฟังและตัวของนางร้องไห้เอง ที่แสดงกิริยาขาดความเคารพในกาละเทศะ อย่างยิ่ง”

ความไม่เหมาะสมหลายประการ ที่ไม่ต้องด้วยพระราชนิยม ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ทรงมีพระราชดำริที่จะยกเลิกธรรมเนียมการพระบรมศพดังกล่าว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงเขียนเล่าไว้ว่า “ฉันเองโดนเข้าอย่างนั้น ก็โกรธและต้องสั่งให้หยุดเหมือนกัน แต่มีคนที่ชอบนางร้องไห้ก็มีมาก เพราะเหตุต่างๆ พวกชนชั้นเก่า มีกรมนราธิปเป็นต้น ชอบเพราะเห็นว่าหรู ในพวกชั้นใหม่ๆ ไปฟังกันแน่นๆ เพราะไม่เคยฟัง จึ่งอยากฟังฉนั้นก็มี แต่ที่ไปฟังสำหรับความต้องการส่วนตัวก็มี เช่นผู้ชายไปฟังเพราะอยากเห็นตัวนางร้องไห้ หรือถือเป็นโอกาสไปพบปะผู้หญิงที่ไปฟังนางร้องไห้อีกต่อหนึ่ง นับว่าเป็นการฟังนางร้องไห้เท่ากับไปฟังสังคีตและกรอกัน”

“...ฝ่ายตัวผู้เป็นนางร้องไห้เองก็ออกจะถือเป็นโอกาสในการประชุมคุยกัน คล้ายไปสโมสร ด้วยเหตุทั้งปวงนี้ นั้นฉันจึงเกลียดนางร้องไห้ และสั่งไว้ว่า เมื่อถึงงานศพฉันขออย่าให้มีนางร้องไห้เลย”


อิศรินทร์ หนูเมือง/เรียบเรียงจาก หนังสือธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย 


ไม่มีความคิดเห็น