ค้นหาบล็อกนี้

Page Nav

HIDE

Grid

GRID_STYLE

Hover Effects

TRUE

Gradient Skin

{fbt_classic_header}

Update News:

latest

ปัญหาเงินกับพระสงฆ์ : พูดกันให้มันจบ ตอนที่ ๗ บทวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการรับเงินของพระสงฆ์

ปัญหาเงินกับพระสงฆ์ : พูดกันให้มันจบ 

ตอนที่ ๗ บทวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการรับเงินของพระสงฆ์



@ หลังจากที่เราได้เสนอหลักฐานเรื่อเงินกับพระมาทั้งหมดแล้วซึ่งคิดว่าจะครอบคลุมเรื่องที่เราต้องการจะทำความเข้าใจพอสมควรแล้ว จากนี้ไปผมคิดว่าควรที่จะต้องลองมาวิเคราะห์เป็นความเป็นไปได้ของแนวทางที่พระสงฆ์สามารถที่จะพอรับเงินได้โดยที่ไม่ละเมิดหรือต้องอาบัติเล็กน้อยที่เกี่ยวข้องได้
ซึ่งผมว่าแม้ว่าการอธิบายจะดูเหมือนว่าทางที่พระจะรับเงินนั้นมันค่อนข้างแคบลงๆทุกขณะแต่ว่าความที่เส้นทางมันแคบลงๆนี้ก็ยังพอมีช่องทางอยู่บ้างที่จะเป็นทางออกที่พอจะหาคำตอบได้บ้าง แม้ว่าจะไม่มากมายนักก็ตาม
ซึ่งผมว่าก็ลองมาช่วยกันคิดวิเคราะห์ดูว่ามันพอที่จะเป็นไปได้หรือไม่ในเรื่องที่ได้อ่านๆศึกษากันมาบ้างแล้วสักระยะหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าผมพอมีประเด็นที่จะชวนท่านคิดวิเคราะห์กันในประเด็นเหล่านี้ครับ...
ก.ความจริงเรื่องเงินกับนักบวช
@ ผลจากการที่เราได้ทำการศึกษาข้อมูลในพระสูตรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเงินในแง่ของหลักการกว้างๆที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้
(๑) สืบเนื่องมาจากการไม่รับเงินรับทองของนักบวชเป็นจารีตที่ได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยที่พระพุทธศาสนายังไม่เกิด นักบวชที่ออกบวชในยุคนั้นก็ไม่ยินดีในทองและเงินชาวบ้านก็มีคติในการยอมรับว่านักบวชยุคก่อนพระพุทธศาสนานั้นไม่ยินดีในเงินและทองและดูเหมือนว่าการไม่ยินดีในเงินและทองนั้นก็เป็นประหนึ่งว่าเป็นภาพลักษณ์ของนักบวชด้วยและเป็นจุดที่ชาวบ้านเขาให้ความเคารพศรัทธาพระด้วยซ้ำไป(อง.ปญจก.(ไทย)๒๒/๑๙๑/๓๑๖.)
(๒) ในยุคของพระพุทธศาสนานั้น ศาสนาพราหมณ์ตรงกับยุคปลายของยุคพราหมณะ ที่พราหมณ์มีอิทธิพลมากพราหมณ์ได้ทำการทำลายคติดั้งเดิมของพราหมณ์รุ่นครูบาอาจารย์ด้วยการหันมารับเงินรับทอง รับเด็ก สตรี ทาส จากการประกอบพิธีกรรมของตนเองในยุคพิธีกรรมนิยม ทำให้พราหมณ์ในยุคนี้เสื่อมความนิยมลงมากเพราะพฤติกรรมของพราหมณ์เองที่หันมารับเงินรับทอง(ขุ.สุ.(ไทย)๒๕/๒๘๘/๕๖๘.)
เมื่อยุคพราหมณะเสื่อมลงศาสนาพราหมณ์ก็ปรับตนเองเป็นยุคอุปนิษัทโดยเริ่มขึ้นก่อนหน้าที่พระพุทธศาสนาจะเกิดขึ้นเล็กน้อย ข้อสังเกตที่อุปนิษัทเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อพระพุทธศาสนาก็คือ การมี
(๑) การทรมานร่างกายของพราหมณ์
(๒) การสอนแนวคิดเรื่องอัตตาและการแสวงหาอัตตาด้วยการทรมานร่างกาย
ซึ่งดูเหมือนว่าเจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่จะตรัสรู้พระองค์ก็เป็นสาวกของอุปนิษัทมาก่อน ดังนั้น ในยุคที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นนั้นเป็นช่วงรอยต่อของศาสนาพรามหณ์ยุคพราหมณะที่กำลังเสื่อมลง และเป็นยุคที่ศาสนาพราหมณ์อุปนิษัทกำลังเจริญรุ่งเรือง ดังนั้น เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นพระพุทธองค์จึงทรงดำเนินรอยตามรูปแบบของนักบวชในยุคโบราณคือการไม่รับเงินรับทอง (ที.สี.(ไทย)๙/๓๐๔/๑๑๔.สํ.ส.(ไทย) ๑๘/๓๖๒/๔๑๕-๔๑๖.)
เพราะการรับเงินรับทองเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมองกับพระศาสนาโดยตรง (อง.จตุกก.(ไทย) ๒๑/๕๐/๘๑.) (อุปกิเลสสูตร)
(๓) หากพิจารณาจากการรับเงินรับทองและการยินดีในการรับเงินรับทองนี้ว่ามีมูลเหตุเกิดมาจากอะไร เมื่อพิจารณาจากเรื่องของการบรรลุธรรม จะพบว่า พระอริยบุคคลตั้งแต่อนาคามี เป็นต้นไปจะมีการ (๑) ฉันมื้อเดียว (๒) ไม่รับเงินรับทองหรือยุติการใช้เงินทองไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งมีกรณีของบุตรช่างหม้อชื่อว่าฆฎิการะ (ม.ม.(ไทย)๑๓/๒๘๘/๓๔๕.)
ก็เป็นอันได้ข้อสรุปว่า การที่ทรงยืนยันการไม่ยินดีและการไม่แสวงหาเงินและทองนั้นก็มาจาก “สภาวะทางจิตใจของบรรดาพระอรหันต์ที่ท่านได้วางต่อเรื่องนี้หมดแล้ว ดังนั้น ท่านจึงไม่ยินดีในเงินและทองและเป็นความถูกต้องที่ในยุคแรกก่อนที่จะมีพระวินัย พระพุทธองค์ทรงตรัสเรื่องจุลศีล(ที.สี.(ไทย)๙/๑๐/๔.) มัชฌิมศีล และมหาศีล(ที.สี.(ไทย)๙/๑๙๔/๖๖.ม.อุ.(ไทย) ๑๔/๑๔/๒๑.) ว่า
พระองค์ก็งดเว้นจากการที่จะรับเงินรับทองและแม้ภิกษุในยุคแรกๆของพระพุทธศาสนาก็ไม่ยินดีในการรับเงินและทอง ซึ่งมูลเหตุที่มาก็คือมาจาก การบรรลุธรรมด้วย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดในยุคแรกๆที่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนายังไม่แพร่หลายมากนัก
ต่อเมื่อพระภิกษุแพร่หลายแล้วจึงค่อยๆปรับรูปแบบของการรับเงินและทองที่ไม่กระทบกับภาพลักษณ์ของพระภิกษุดังปรากฏในสิกขาบทที่ทรงห้ามในพระวินัยนั้น

ข.ความจริงเรื่องเงินกับพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล : พระวินัย
@ ประเด็นต่อมาก็คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระวินัยว่าเมื่อพระภิกษุมากขึ้น ความแพร่หลายของพระพุทธศาสนาก็มากขึ้น และมีบรรดาปุถุชนมาบวชมากขึ้นทำให้เกิดการละเมิดพระธรรมวินัยมากขึ้นทำให้มีการบัญญัติสิกขาบทมากขึ้น
เหมือนกับที่พระมหากัสสปเถระเป็นห่วงว่าเมื่อก่อนหน้านี้ สิกขาบทที่ภิกษุสงฆ์พึงปฏิบัติมีน้อย ส่วนภิกษุที่บรรลุพระอรหัตตผลมีมาก แต่ขณะนี้สิกขาบทที่ภิกษุสงฆ์พึงปฏิบัติมีมาก แต่ภิกษุที่บรรลุพระอรหัตตผลกลับมีน้อยลง (สํ.นิ. (ไทย) ๑๖/๑๕๖/๒๖๒–๒๖๔.)
การที่เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ก็เพราะการที่มีคนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากการดูแลเอาใจใส่ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆก็เป็นไปแบบไม่ทั่วถึงทำให้มีการประพฤติล่วงเกินพระธรรมวินัยกันมาก แต่ถึงอย่างนั้นความที่พระสงฆ์เข้ามาบวชมากก็ถือว่าเป็นความแพร่หลายของพระพุทธศาสนาอีกประการหนึ่งในยุคนั้น
อนึ่ง การที่พระพุทธองค์ได้ทำการบัญญัติพระวินัยที่เกี่ยวกับการรับเงินรับทองนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลกหรือแตกต่างอะไร เนื่องจากว่าเป็นเรื่องที่ (๑) พระเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินและทอง (๒) เป็นเรื่องที่ชาวบ้านตำหนิว่าทำไมพระต้องทำแบบนั้น
ผมว่าเพียงแค่ ๒ ประการนี้เองที่ทำให้พระพุทธองค์ถึงได้ตรัสเรื่องของโทษของการรับเงินและทอง ซึ่งเรื่องเงินทองนี้หากจะว่าเป็นแล้วจะมองว่าเป็นเรื่องร้ายแรงก็มองได้ เพราะหากว่าพระมีเจตนาที่จะขโมยก็มีความผิดถึงขั้นปาราชิก
แต่ถ้ามองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงก็ได้เพราะเรื่องนี้เป็นแค่อาบัติลหุโทษที่สามารถแก้ไขได้เท่านั้น ในเรื่องอาบัติเพราะการรับเงินรับทองนี้ผมว่าเป็นแค่เรื่องของการเสียมารยาทหรือทำให้ภาพลักษณ์ของพระเสียหายในสายตามญาติโยมเท่านั้นเอง
เพราะอาการที่ยินดีในเงินและทองนั้น เป็นอาการหรือพฤติกรรมของชาวบ้านที่ผมยกมาให้ดูแล้วว่าพระไตรปิฎกก็ยืนยันเช่นนั้น และเป็นจารีตที่นักบวชในสังคมอินเดีย ที่ไม่จำกัดเฉพาะพระพุทธศาสนายอมรับกันว่าการยินดีรับเงินและทองนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมองกับนักบวชหรือทำให้นักบวชเศร้าหมองก็แต่นั้นเองไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรมากมายนัก
หรือการที่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนารับเงินรับทองผมว่า “เส้นเบ่ง”มันอยู่ที่การเสียภาพลักษณ์เท่านั้นเอง ไม่ได้ร้ายแรงหากไม่เป็นการเข้าไปเพื่อการลักขโมย เพราะอาการลักขโมยเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรกับวัตรปฏิบัติของพระหรือนักบวชในทุกๆศาสนาเลย โดยอาบัติที่เกี่ยวข้องกับเงินของพระนั้นจะมีลักษณะที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีอาบัติหนัก ท่านให้ยึดเจตนาเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน กล่าวคือกรณีที่เป็นอาบัติหนัก คือ ปาราชิกนั้น เมื่อเจตนาพร้อมที่มุ่งจะขโมยหรือลักทรัพย์สินของผู้อื่นเกินกว่า ๕ มาสก ซึ่งคำว่า มาสก หมายถึง ชื่อมาตราเงินในครั้งโบราณ (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต):๒๕๓๘ : ๓๑๙)
มาสกนั้นแบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ
(๑) โลหมาสก ได้แก่ มาสกที่ทำด้วยแร่ทองแดงหรือทองคำ แร่เงิน เป็นต้น
(๒) มาสกไม้ ได้แก่ มาสกที่ทำด้วยไม้แก่นก็ดี ด้วยข้อไม้ไผ่ก็ดี โดยที่สุดแม้มาสกที่เขาทำด้วยใบตาลสลักเป็นรูป หรือโดยที่สุดทำด้วยกระดูกบ้าง ทำด้วยหนังบ้าง ทำด้วยเมล็ดผลไม้บ้าง ดุนให้เป็นรูปบ้างมิได้ดุนให้เป็นรูปบ้าง
(๓) มาสกยาง ได้แก่ มาสกที่เขาทำด้วยครั่งก็ดี ด้วยยางก็ดี ดุนให้เกิดรูปขึ้น(วิ.ม.อ.(ไทย)๑/๓/๙๔๖.)
โดยมาสกนี้ถือว่าเป็นวัสดุที่มีค่าที่ชนบทหรือผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆสมมติใช้ซื้อขายกัน (วิ.ม.อ.(ไทย)๑/๓/๙๖๑.) โดยที่มีหน่วยวัดค่าคือ ๕ มาสกเท่ากับหนึ่งบาท ๔ บาทเท่ากับหนึ่งกหาปณะ ซึ่งคำว่ากหาปณะ หมายถึง ชื่อมาตราเงินในสมัยโบราณ๑ กหาปณะเท่ากับ ๒๐ มาสก หรือ ๔ บาท (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต):๒๕๓๘ : ๙)
อนึ่งในคำว่า มาสกก็ดี กหาปณะก็ดีรวมเรียกว่า รูปิยะ หมายถึง ทองคำ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะมาสกที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วยครั้ง ซึ่งใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้ (วิ.ม.อ.(ไทย)๑/๓/๙๖๑.)
รูปิยะเหล่านี้จัดว่าเป็น อกัปปิยะ ของเหล่าภิกษุทั้งหลาย หมายถึง สิ่งของที่ไม่ควร, ไม่สมควรแก่ภิกษุจะบริโภคใช้สอย คือ ต้องห้ามด้วยพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉัน, (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต):๒๕๓๘ : ๔๗๗)
ซึ่งอกัปปิยะนี้ตรงข้ามกับคำว่า กัปปิยะ ซึ่งหมายถึงของที่สมควร, ควรแก่สมณะที่จะบริโภค, ของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย คือพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉันได้ เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดงเป็นกัปปิยะ (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต):๒๕๓๘ : ๑๒)
สำหรับมาสกก็ดี กหาปณะก็ดี หรือรูปิยะทั้งหมดก็ดีที่เข้าสมมติใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันนั้นหากภิกษุมีเถยยจิต คือจิตที่จะถือเอาเป็นของตน การกระทำเช่นนั้นถือว่า เป็นอาบัติปาราชิกคือมีโทษหนัก
(๒) กรณีอาบัติเบา คือนิสัคคียปาจิตตีย์ ปาจิตตีย์ ท่านให้ยึดเอา (๑) เจตนา และ (๒) ความจำเป็นเป็นเกณฑ์ โดยให้คนกลางมารับเงินและทองแทน หมายคามว่าถ้าเป็นการรับเงินและทองด้วยความยินดีหรือมีเจตนาที่จะรับเพราะหลงใหลในเงินและทองนั้น วัตถุที่ได้มาจากทรัพย์นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่จะต้องสละคืน หรือถ้าเป็นเงินและทองต้องสละทิ้ง
อนึ่งในกรณีของอาบัติเบานี้ท่านไม่ได้ห้ามขาด คือ (๑) ตอนแรกห้ามขาด แต่ (๒) ระยะต่อๆมาเมื่อมีเหตุจำเป็นพระองค์ทรงอนุญาตภายใต้เงื่อนไขว่า การรับเงินและทองได้นั้นจะต้องมีคนกลางมารับเงินแทน เช่น การให้ไวยาวัจกรหรือกัปปิยการกรับแทน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในเรื่องภาพลักษณ์แก่คณะสงฆ์
ดังนั้น เราจึงจะพบว่าเรื่องอาบัติเกี่ยวกับพระสงฆ์องค์เณรในเรื่องเงินๆทองๆนี้จึงมี ๒ ลักษณะ คือ (๑) ถ้าเป็นอาบัติหนักยึดเอาเจตนาเป็นเครื่องตัดสิน แต่ถ้า (๒) เป็นอาบัติเบาพระพุทธองค์ทรงยึดเจตนาและความจำเป็นเป็นเงื่อนไขในการตัดสินและการผ่อนคลายให้ภิกษุรับได้ โดยเงื่อนไขความจำเป็นนั้นก็เป็นที่รู้กันว่าต้องให้คนกลางมาเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการรับเงินรับทองแทนคณะสงฆ์ (อันนี้ว่าตามหลักฐานนะครับ)

ค.ความจริงเรื่องแนวทางการรับเงินรับทองของพระสงฆ์
สำหรับประเด็นต่อไปนี้ที่จะต้องนำมากล่าวก็คือประเด็นเกี่ยวกับความจริงเรื่องแนวทางการรับเงินรับทองของพระสงฆ์ตามนัยพระไตรปิฎกว่า พระไตรปิฎกอนุญาตการรับเงินรับทองหรืออนุญาตให้พระสงฆ์ใช้เงินและทองนั้นได้อย่างไรตามแนวที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถาหรือตามนัยวิเคราะห์ของผู้เขียนเองว่าพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์มีสิทธิในการใช้เงินและทองได้อย่างไร
ซึ่งผมถือว่าพระท่านก็คงอยากรู้เรื่องนี้เรื่องนี้เหมือนกัน โดยผู้เขียนได้วางกรอบการวิเคราะห์ไว้ดังต่อไปนี้
(๑) การรับเงินผ่านไวยาวัจกรหรือกัปปิยการก
สำหรับข้อนี้เป็นการนำเอาประเด็นเรื่อง “คนกลางที่ทำหน้าที่รับเงินทองแทนพระสงฆ์เพื่อ (๑) เป็นค่ากับปิยภัณฑ์ ได้แก่ จีวรและสิ่งอื่นๆที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ (๒) เป็นค่าอาหารในช่วงการเดินทางไกล (๓) เป็นค่าก่อสร้างหรือนวกรรมที่เป็นแนวคิดที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา
โดยในพระไตรปิฎกพูดชัดว่า (๑) พระรับเงินรับทองนั้นเป็นอาบัตินิสัคคิยปาจิตตีย์และปาจิตตีย์ ของที่ได้มาจากการทำเช่นนั้นต้องสละคืนหรือต้องปลงอาบัติจึงพ้นได้ เพื่อไม่ใช้เกิดความเศร้าหมองแก่สงฆ์พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้คณะสงฆ์มร “ไวยาวัจกร”หรือกัปปิยการกมารับแทนพระได้ โดยคำว่า ไวยาวัจกรหมายถึง ผู้ทำกิจ, (วิ.ม.อ.(ไทย)๑/๓/๘๕๖.)
หรือ “ผู้ทำการขวนขวายช่วยเหลือ/รับใช้”, ผู้จัดทำธุระให้, คฤหัสถ์ผู้ช่วยเหลือรับใช้พระ, คฤหัสถ์ผู้ทำกิจธุระแทนภิกษุหรือแทนสงฆ์, คฤหัสถ์ผู้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของวัดในการจัดการทรัพย์สินของวัด
ในพระวินัย ไวยาวัจกร หมายถึงคฤหัสถ์ผู้ช่วยเหลือรับใช้หรือทำกิจธุระให้แก่ภิกษุหรือภิกษุณี ดังเช่นคนวัดหรืออุบาสกที่ภิกษุบอกแสดงหรือชี้ตัวว่าเป็นไวยาวัจกร ซึ่งบุคคลผู้ประสงค์จะได้มอบทรัพย์สำหรับจ่ายค่าจีวรให้ไว้เพื่อภิกษุนั้นจะได้บอกแจ้งให้จัดจีวรถวายเมื่อต้องการ (สิกขาบทที่ ๑๐ แห่งจีวรวรรคนิสสัคคิยปาจิตตีย์, (วิ.ม.(ไทย)๒/๕๓๘/๖๕-๖๖.)
ภิกษุณีต้มยาคู หุงข้าว ปรุงของขบเคี้ยว ซักผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าโพก ให้แก่ไวยาวัจกรของตนได้รับยกเว้น ไม่ต้องอาบัติตามพระบัญญัติที่ว่า ภิกษุณีใดทำการขวนขวายรับใช้คฤหัสถ์ เป็นปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๔แห่งจิตตาคารวรรค ปาจิตตีย์, วินย.๓/๓๐๕-๖/๑๖๙) (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต):๒๕๓๘ : ๓๙๑)
ส่วนคำว่า กัปปิยการก หมายถึง ผู้ทำของให้สมควร(วิ.ม.อ.(ไทย)๑/๓/๘๕๖.)ผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ,ผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ลูกศิษย์พระ(พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต):๒๕๓๘ : ๑๒)
ในประเด็นเรื่องเงื่อนไขในการรับเงินของพระตามพระธรรมวินัยนี้จะพบว่าภิกษุหรือสงฆ์สามารถใช้เงินได้ผ่านบุคคล ๒ ประเภทที่ถูกแต่งตั้งมานี้ คือ (๑) ไวยาวัจกร และ(๒)กับปิยการกได้ ซึ่งข้อนี้ไม่มีความผิดหรือไม่ต้องอาบัติแต่ประการใด และสงฆ์สามารถใช้เงินได้หรือมีสิทธิในการใช้เงินผ่านการจัดการของบุคคล ๒ ประเภทนั้น
ซึ่งจะพบว่าในกรณีของจีวรหรือเครื่องใช้ของพระภิกษุจะเป็นหน้าที่ของไวยาวัจกร ส่วนในกรณีของการดำเนินการด้านอาหารจะเป็นหน้าที่ของกับปิยการก ผมว่านี่เป็นแนวทางในการใช้เงินตามพระธรรมวินัยที่พระสามารถที่จะทำได้เลยไม่ผิดพระธรรมวินัย
(๒) การรับเงินผ่านการตีความของพระอรรถกถาจารย์
@ ในพระไตรปิฎกก็เป็นที่ทราบกันว่า การรับเงินรับทองนั้นหากภิกษุรูปใดรับโดยไม่ผ่าน “คนกลาง”คือ ไวยาวัจกรและกัปปิยการกแล้ว ก็เป็นอันว่าจะต้องอาบัติทั้งนิสัคคียปาจิตตีย์และปาจิตตีย์โดยไม่ต้องสงสัย แต่ในกรณีของเมื่อมีคนนำเอาเงินและทองมาถวายแก่ภิกษุถามว่าภิกษุควรปฏิบัติอย่างไร ? ข้อนี้ผมว่าผมเริ่มมีความหลวังว่า พระภิกษุท่านจะสามารถรับเงินรับทองได้เนื่องจากพระอรรถกถาจารย์(พ.ศ.๙๕๐-๙๖๐)
ท่านได้ให้คำอธิบายว่า เมื่อเวลาที่มีคนมาถวายเงินและทองนั้นควรรับหรือไม่ หรือควรที่จะต้องปฏิบัติอย่างไร ? ซึ่งกรณีการรับเงินทองที่มีผู้นำมาถวายนี้พระอรรถกถาจารย์ชาวศรีลังกาท่านให้ความเห็นไว้ดังนี้ครับ คือ
(๑) ถ้ามีญาติโยมนำเอาทองและเงินมาถวายด้วยการกล่าวว่า ผมขอถวายทองและเงินนี้แก่สงฆ์, ขอพระสงฆ์จงใช้เงินและทองนี้สร้างอาราม วิหาร เจดีย์ หรือหอฉันเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นควร, ภิกษุจะรับทองและเงินแม้นี้ไม่ควร. ในมหาปัจจรีท่านกล่าวไว้ว่า จะเป็นอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น (ข้อนี้เป็นการยืนยันว่าการรับเงินนั้นเป็นอาบัติ) (วิ.ม.อ.(ไทย)๑/๓/๘๖๓.)
(๒) แต่เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกช่างไม้ หรือพวกกรรมกร, ท่านทั้งหลายจงรับทราบการงานที่เขาทำดี และไม่ดีอย่างเดียว ดังนี้แล้ว มอบไว้ในมือพวกช่างไม้ หรือพวกกรรมกรเหล่านั้นจึงหลีกไป, จะรับก็ควร, ถ้าแม้น เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกคนของผมเอง, หรือว่าจักอยู่ในมือของผมเอง,
ท่านพึงส่งข่าวไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้ที่เราจะต้องให้ทองและเงินเขาอย่างเดียว, แม้อย่างนี้ ก็ควร(วิ.ม.อ.(ไทย)๑/๓/๘๖๔.)
ในกรณีที่ ๒ นี้ท่านว่าสามารถรับเงินและทองที่เขามาถวายได้หากพิจารณาจากคำว่า “จะรับก็ควร”หรือ “อย่างนี้ก็ควร”คือสามารถรับได้ในบางกรณีหรือในกรณีที่ว่านี้
(๓) แต่ถ้าว่าญาติโยมไม่ระบุสงฆ์ คณะ หรือบุคคล กล่าวว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายเงิน และทองนี้แก่เจดีย์, ถวายแก่วิหาร, ถวายเพื่อนวกรรมดังนี้ ก็ไม่ควรปฏิเสธ(วิ.ม.อ.(ไทย)๑/๓/๘๖๔.) คือรับเงินเหล่านั้นได้
(๔) อนึ่ง เมื่อญาติโยมถวายเพื่อประโยชน์แก่จตุปัจจัย พึงน้อมไปเพื่อปัจจัย ที่ต้องการเขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จีวร พึงน้อมไปในจีวรเท่านั้น ถ้าว่าไม่มีความต้องการจีวรนั้น, สงฆ์ลำบากด้วยปัจจัยมีบิณฑบาตเป็นต้นพึงอปโลกน์เพื่อความเห็นดีแห่งสงฆ์แล้วน้อมไป
แม้เพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตเป็นต้น แม้ในอกัปปิยวัตถุที่เขาถวาย เพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตและคิลานปัจจัย ก็นัยนี้ อนึ่ง อกัปปิยวัตถุที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ พึงน้อมไปในเสนาสนะเท่านั้น เพราะเสนาสนะเป็นครุภัณฑ์ หมายความว่าเมื่อมีผู้มาถวายเงินและทองเพื่อกิจการสิ่งใดแล้วให้ดำเนินการใช้เงินและทองไปเพื่อสิ่งนั้น
เช่น เขาถวายด้วยการปวารณาให้ซื้อจีวรก็ซื้อจีวร แต่ถ้าไม่ต้องการด้วยจีวรจะอุปโลกน์ไปใช้เพื่อการบิณฑบาตก็ไม่ผิดแต่ประการใด (วิ.ม.อ.(ไทย)๑/๓/๘๖๔.)
จากการกล่าวมาทั้งหมดในกรณีของแนวทางในการใช้เงินของพระอรรถกถาจารย์นั้นผมว่าในกรณีนี้ก็แสดงให้เห็นว่า
(๑) ถ้าญาติโยมประสงค์ถวายเงินทองแก่พระสงฆ์โดยไม่จำเพาะเจาะจงเพื่อกิจการในการก่อสร้างแล้วนั้นพระสงฆ์ก็สามารถรับเงินนั้นได้เพื่อสงฆ์และเมื่อรับมาแล้วก็สามารถที่จะใช้ไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ถวายได้ หรือหากไม่รับเองก็บอกผ่านกัปปิยการกก็ได้
(๒) ผมเห็นว่าทรรศนะของพระอรรถกถาจารย์ค่อนข้างคลี่คลายมากเนื่องจากท่านได้พยายามปลดล๊อคเรื่องของการรับเงินรับทองนี้อยู่คือการที่ท่านใช้คำว่า “จะรับก็ควร” ซึ่งคำๆนี้เราอาจจะตีความได้ว่ามันคือการยินยอมให้พระสงฆ์รับเงินและทองได้ในบางกรณีนั่นเอง
นอกกจากนั้นในอรรถกถาท่านอธิบายว่าถ้าเป็นเงินของบิดามารดาภิกษุสามารถที่จะเก็บไว้ใช้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเองได้ ดังปรากฏในคำว่า แต่ถ้าของ ๆ มารดาบิดาเป็นกัปปิยภัณฑ์อันควรที่ภิกษุจะเก็บไว้ได้แน่นอน พึงรับเก็บไว้เพื่อประโยชน์ตน (วิ.ม.อ.(ไทย)๒/๘๑๖.)
อนึ่ง จะพบว่าพระอรรถกถาจารย์ก็ยังมีความพยายามที่จะให้มีการรับปากโยมในเรื่องของการที่เขามาถวายเพื่อก่อสร้างหรือเพื่อกิจการอื่นของสงฆ์ท่านว่าเมื่อเขามาปวารณาหรือนำเงินมาถวายพระก็ไม่ควรปฏิเสธว่าจะไม่รับแต่พระภิกษุควรหาทางออกตามพระธรรมวินัยก็คือการบอกแก่กัปปิยการกว่าให้เข้าไปดำเนินการเรื่องการรับเงินเพื่อนำมาสร้างได้
หรือหากภิกษุรับปากโยมว่าสมควรที่จะรับเงินนั้นแต่ขอให้ผ่านกัปปิยการก และเงินที่รับมาแล้วสามารถที่จะผ่องถ่ายไปใช้เพื่อกิจการของสงฆ์อันอื่นที่เหมาะสมได้
(๓) การรับเงินผ่านการตีความเรื่อง “ความจำเป็น”
ประเด็นต่อมาที่จะมีการนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันว่า สงฆ์กับการรับเงินและทองนี้จะพอมีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร ผมว่าความเป็นไปได้ในเรื่องเงินเรื่องทองกับพระสงฆ์หากมองจากมุมมองเรื่องของพระวินัยนี้ว่า
พระวินัยว่าอย่างไรนั้น ผมว่าเราสามารถที่จะพิจารณาจากการตีความเรื่อง “ความจำเป็น”ที่สงฆ์ไทยสามารถที่จะตีความเพื่อให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัยได้ โดยประเด็นเร่องเงินกับพระสงฆ์นั้นเราสามารถที่จะไล่เรียงเพื่อจะให้มีคำตอบอย่างนี้ครับ
(๑) พระวินัยมีความชัดเจนเรื่องการรับเงิน การซื้อขายและการแลกเปลี่ยนเงินทองอยู่แล้ว อันนี้หรือข้อนี้เป็นเรื่องของหลักการที่ว่าด้วยเรื่องของอาบัติอันนี้ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน(วิ.ม.(ไทย)๒/๕๘๓/๑๐๘.)
(๒) พระวินัยแม้จะบัญญัติไว้เป็นพระวินัยแล้ว แต่ก็มีความคลี่คลายอยู่พอสมควร โดยทรงอนุญาตให้ พระสงฆ์หรือคณะสงฆ์นั้นใช้เงินผ่านบุคคลที่สามารถเข้ามาทำหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับเงินแทนสงฆ์ได้ ๒ ประเภท คือ
(ก) พระภิกษุใช้เงินผ่านไวยาวัจกร ในการซื้อผ้าจีวรโดยให้ผู้ที่ศรัทธานำเงินไปมอบให้ไวยาวัจกรที่คณะสงฆ์แต่งตั้งไว้แล้วว่าให้เป็นคนที่มาทำหน้าที่นี้ คือหน้าที่ในการจัดซื้อจีวรให้พระสงฆ์แทนการที่พระสงฆ์จะต้องจัดการซื้อด้วยตัวเอง(วิ.ม.(ไทย)๒/๕๓๘/๖๕-๖๖.)
(ข) ให้พระภิกษุสงฆ์ใช้เงินผ่านกัปปิยการก ในกรณีเป็นผู้รับเงินที่มีคนถวายให้กับพระสงฆ์แล้วนำเอาเงินที่มีคนถวายนี้ไปจัดซื้อจัดจ้างในเรื่องของอาหารและสิ่งอันควรอื่นๆมาเพื่อสงฆ์ ในบางกรณีที่เป็นเรื่องของอาหารที่จะต้องมีการประเคน หากไม่มีคนประเคนพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตว่าให้พระภิกษุหยิบเองได้ หรือแม้ไม่มีคนประเคนในเวลาที่หาคนมาเป็นกัปปิยการกไม่ได้ก็ “หยิบเองได้เลย” (วิ.ม.(ไทย)๕/๓๐๕/๑๘.)
อย่าลืมว่า “กัปปิยการก”นี้ไม่มีในบทบัญญัติพระวินัยคือไม่มีในบทบาทของการบัญญัติพระวินัยในเล่มที่ ๑-๒-๓ แต่มีในพระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรง “อนุญาตในคราวสำคัญ” เช่น ภาวะข้าวยากหมากแพง คราวเดินทางไกล เป็นต้นดังคำว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโครส ๕ ชนิด คือ นมสด นมเปรี้ยว เปรียง เนยข้น และเนยใส ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดาร อัตคัดน้ำ อัดคัตอาหารมีอยู่ ภิกษุไม่มีเสบียงเดินทางไป ต้องลำบาก เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้
คือ ผู้ต้องการข้าวสารพึงแสวงหาข้าวสาร ผู้ต้องการถั่วเขียวพึงแสวงหาถั่วเขียว ผู้ต้องการถั่วราชมาสพึงแสวงหาถั่วราชมาส ผู้ต้องการเกลือพึงแสวงหาเกลือ ผู้ต้องการน้ำอ้อยงบพึงแสวงหาน้ำอ้อยงบ ผู้ต้องการน้ำมันพึงแสวงหาน้ำมัน ผู้ต้องการเนยใสพึงแสวงหาเนยใส(วิ.ม.(ไทย)๕/๒๙๙/๑๒.)
ซึ่งภาวะคับขันหรือภาวะที่เป็นภัยเช่นนี้ทรงอนุญาตเพื่อให้พระสงฆ์สามารถก้าวผ่านภาวะวิกฤตินั้นได้โดยไม่เดือดร้อน
จากการกล่าวถึงความยืดหยุ่นของพระวินัยในเรื่องของการรับเงินและทองของพระสงฆ์ ผ่านไวยาวัจกรก็ดีหรือผ่านกัปปิยการกก็ดี โดยเฉพาะในกรณีของกับปิยการกที่ที่มีปัญหาเกิดขึ้นว่า
(๑) กัปปิยการกหายาก
(๒) กัปปิยการกเบียดเบียนพระสงฆ์ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุดำเนินการในบางกรณีที่ไม่อาจจะหากัปปิยการกได้ด้วยการ “ให้พระภิกษุดำเนินการในเรื่องนั้นด้วยตัวเองได้” เช่น การหยิบของที่ไม่ประเคนได้ หรือการต้มหุงหาอาหารเองได้ เป็นต้น
ซึ่งการที่พระพุทธองค์
(๑) ทรงบัญญัติเรื่องการห้ามรับเงินรับทอง
(๒) ต่อมาก็ทรงอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากเงินและทองได้เนื่องจากมีความจำเป็นโดยผ่านไวยาวัจกรหรือกัปปิยการก
ซึ่งถือว่านี่ คือความคลี่คลายในเนื่องนี้ โดยเงื่อนไขที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตก็คือ “เงื่อนไขเรื่องความจำเป็น” หมายความว่า เมื่อมีความจำเป็นพระพุทธองค์ก็ทรงผ่อนปรนในเรื่องของการใช้เงินและทองนี้ได้
เมื่อเวลาผ่านจนถึงปัจจุบันนี้เป็นไปได้หรือไม่ว่า ภาวะ พระสงฆ์ในสังคมไทยก็กำลังอยู่ในภาวะของเงื่อนไขแห่ง “ความจำเป็น” เช่นเดียวกันในเรื่องของการรับเงินและทอง คือ ในปัจจุบันนี้มีคนปรารถนาที่จะถวายเงินแก่พระสงฆ์โดยตรงด้วยความคิดว่าการถวายปัจจัยพระสงฆ์นั้นได้บุญ แต่มีเหตุจำเป็นคือ
(๑) พระหากัปปิยการกยาก
(๒) สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเหตุให้ญาติโยมไม่สามารถมาดูแลพระได้เหมือนกับสมัยพุทธกาลได้
ก็จึงเป็นเหตุที่ทำให้เราสามารถตีความได้หรือไม่ว่าเหตุเช่นนี้ๆเองแหละที่พระสามารถที่จะใช้เงินที่โยมถวายหรือรับเงินที่โยมถวายเพื่อการดำเนินการจัดการเพื่อให้กิจของสงฆ์สำเร็จลงได้ด้วยดี ซึ่งผู้เขียนเองเห็นว่าภาวะที่พระพุทธองค์ทรงเอื้อให้พระสงฆ์สามารถที่จะดำเนินวิถีแห่งสงฆ์ไปได้ในสมัยพุทธกาลนั้น
คือ ทรงอนุเคราะห์สงฆ์ด้วยการอนุญาตให้พระสงฆ์ใช้ประโยชน์จากเงินได้ ในบางครั้งคราวที่เป็นเหตุการณ์จำเป็น หรือเกิดจากเงื่อนไขคือความจำเป็นในยุคนั้นๆในขณะที่ทรงพระชนม์อยู่ได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น ในคราวที่คณะสงฆ์เกิดความจำเป็นในทุกวันนี้ที่สังคมบ้านเรามีความบีบรัดเรื่องเวลา และความไม่สะดวกที่ชาวบ้านจะมาทำหน้าที่เป็นกัปปิยการก และชาวบ้านทุกวันนี้ก็มีกิจเยอะจนไม่สามารถที่จะมาทุ่มเทเวลาให้คณะสงฆ์ได้
จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่า ภาวะเช่นนี้มันคือ “เงื่อนไขที่เป็นความจำเป็น” ที่สงฆ์ในยุคปัจจุบันจะตีความให้เอื้อต่อพระวินัยว่า เมื่อมีเหตุจำเป็นเช่นนี้ๆ พระสงฆ์ในยุคนี้จึงอนุโลมให้มีการรับเงิน(ไม่มีทอง)ก็ได้
ซึ่งก็ไม่ได้เป็นขัดแย้งพระธรรมวินัย แต่เป็นเรื่องที่ “สืบเนื่อง”จากที่พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตไว้แล้วว่าหาก “มีเงื่อนไขคือความจำเป็น” พระองค์ก็ทรงอนุญาตเป็นเรื่องๆไป และถ้ายุคนี้มี “ความเป็น” ที่แม้ไม่เหมือนกับที่บัญญัติไว้ในพระวินัยแต่ที่สุดมันก็คือความจำเป็นเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อมันเป็น “ความจำเป็น”
เหมือนๆกันจึงเป็นไปได้หรือไม่ว่าเราหรือคณะสงฆ์จะสามารถตีความให้สอดรับกับพระธรรมวินัยได้ว่า เมื่อมันเป็นความจำเป็นหรือความเดือดร้อนเช่นนี้ๆ คณะสงฆ์ไทยจึงสามารถที่จะรับเงินจากผู้ที่มีศรัทธาได้โดยตรง และสามารถที่จะใช้เงินที่ได้รับการถวายมานั้นเพื่อกิจการพระศาสนาได้
หลายท่านอาจจะมีคำถามว่า จะเป็นไปได้อย่างไร เมื่อใน ยุคนั้นคที่อนุญาตคือ พระพุทธองค์ แต่เมื่อมาถึงทุกวันนี้ไม่มีพระพุทธองค์ใครล่ะจะเป็นผู้ที่อนุญาต
ผมว่านะครับ ก่อนที่พระพุทธองค์จะปรินิพพาน (๑) ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ (ที.ม. (ไทย) ๑๐/๒๑๖/๑๖๕.) (๒) ทรงมอบให้พระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ (ที.ม. (ไทย) ๑๐/๒๑๖/๑๖๔.)
ถามว่าเมืองไทยเราตอนนี้ (๑) มีเงื่อนไขแห่งความจำเป็น (๒) มีสงฆ์ที่เป็นใหญ่ในการปกครอง (๓) มีพระธรรมวินัยเป็นแกนหลักอยู่
ดังนั้น หากจะสามารถที่จะมีการรับรองว่าสงฆ์สามารถที่จะรับเงินรับทองที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัยได้ ตามแนวทางของพระวินัย สงฆ์จะต้องเป็นผู้มีมติว่าควรรับหรือไม่ควรรับ เพราะสงฆ์เป็นผู้บริหารคณะสงฆ์ไทยอยู่ทุกวันนี้
ด้วยการที่สงฆ์ไทยจะต้องมีฉันทามติประชุมกันเพื่อมีมติเรื่องนี้ เมื่อมีมติแล้วก็ประกาศให้สังคมได้ทราบโดยทั่วกัน เพียงแค่นี้ก็สามารถที่จะมีความชอบธรรมในการรับเงินรับทองได้โดยไม่มีปัญหา
ผมว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ผมแล้วล่ะ แต่ขึ้นอยู่ที่ “คณะสงฆ์”ว่าจะมีมติสงฆ์ในเรื่องนี้อย่างไร ? และคณะสงฆ์จะอ้าง “ความจำเป็น” นี้แล้วเสนอเป็นมติของคณะสงฆ์ทั้งประเทศได้หรือไม่เท่านั้นเอง ?
@ เอาล่ะ คิดว่าเป็นเบื้องต้นของการที่จะพอหาคำตอบเรื่องของการรับเงินรับทองของพระได้บ้าง เนื่องจากผมเองพยายามที่จะหาคำตอบในเรื่องนี้ให้ได้จากการพยายามที่จะหา ช่องทางของพระธรรมวินัยว่าทางออกหรือทางที่ควรออกมันควรเป็นอย่างไร
ผมว่าคำตอบนี้ยังไม่ใช่ที่สุดของคำตอบทั้งหมดนะครับเป็นเพียงข้อเสนอของผมเองที่ใช้เวลาที่ค่อนข้างจำกัดในการหาคำตอบ จริงๆแล้วคำตอบเท่าที่หาได้ในวันนี้ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายนะครับ เพราะพรุงนี้หรือวันต่อๆไปผมจะมาเล่าเรื่องมหาปเทส ๔ หรือผมจะพยายามหาหลักฐานข้ออื่นๆมาอ้างอิงเพื่อหาช่องว่าพระคุณเจ้าจะรับเงินอย่างไรจึงจะไม่ผิดพระวินัย
ซึ่งผมเองจะไม่ตอบแบบแอ๊บแบ้วเหมือนหลายๆท่านว่าก็พระทำไม่ได้ก็ต้องยอมรับว่าทำไม่ได้ ก็ไม่ใช่อาบัติหนักหนาอะไรแค่นิสัคคียปาจิตตีย์โยมจะมาเอาอะไรกันนักหนากะพระ พระท่ารับเงินทองก็เพื่อใช้ประโยชน์ในพระศาสนา ผมว่าผมก็ไม่ได้เถียงที่ท่านมีความคิดเห็นเช่นนี้ แต่ผมว่าการตอบแบบไม่เชื่อมโยงกับพระธรรมวินัยหรือไม่เชื่อมโยงเลยกับพระวินัยนั้นมันอันตราย คือ
(๑) เท่ากับว่าเป็นการปฏิเสธพระธรรมวินัย
(๒) เท่ากับว่าเราไม่เอื้อเฟื้อพระธรรมวินัย
ถ้าพระเราทำ ๒ ข้อนี้แล้วผมว่าก็ไม่ต้องพูดอะไรแล้วล่ะ แต่ที่ผมพยายามที่จะอธิบายมาตลอดก็คือ
(๑)ทำอย่างไรเราจะพอมองเห็นปัญหา
(๒) ทำอย่างไรเราจะพอแก้ไขปัญหาได้ เท่านั้นเองไม่ได้มากมายอะไร
เพราะถ้าเรามองเห็นปัญหาเราก็แก้ไขปัญหาได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามองไม่เห็นปัญหาเราก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย ซ้ำร้ายเราจะพากันคิดแบบตกขอบไปด้วยการกล่าวว่าพระยุคนี้ต้องยอมรับว่าท่านรักษาเรื่องแบบนี้ไม่ได้ คือการไป ยอมรับแบบนั้นผมว่ามันไม่มีหลักการ
แต่ไม่ได้หมายความว่าที่ผมเสนอไปนี้มันเป็นหลักการแต่ผมพยายามที่จะอิงหลักการว่าหลักการว่าอย่างนี้ และทางออกมันควรจะเป็นแบบนี้ไหม คือพยายามที่จะหาทางออกจากทางที่คิดว่าไม่น่าจะมีทางออกนี่แหละ
ส่วนการเสนอความคิดของผมผมไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหากไม่ถูกทางนี้ก็หาทางใหม่เท่านั้นเองมันไม่ได้มีผิดหรือถูกอะไรใช่ไหมครับ เดี๋ยวครั้งต่อไปผมจะมาเล่าถึงเรื่องของมหาปเทส ๔ กับทางออกเรื่องนี้ว่ามันจะพอมีทางออกอีกช่องทางหนึ่งไหม
อย่างน้อยก็ได้คิดครับแม้ว่าจะเป็นเพียงความคิดแค่ความคิดหนึ่งเท่านั้นก็ยังดี และหวังว่าจะพอมีประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ไม่มากก็น้อย นะครับ เอวัง ฯ
ขอบคุณมากครับ Naga King 25 06 2018
ที่มา เฟตบุ๊ค Naga King

อ่านเพิ่มเติม
 ปัญหาเรื่องพระกับเงิน 
พูดกันให้มันจบ ตอนที่ 1 , ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ,  ตอนที่ 4 ,
ตอนที่ 5 , ตอนที่  6, ตอนที่ 7

ไม่มีความคิดเห็น