ค้นหาบล็อกนี้

Page Nav

HIDE

Grid

GRID_STYLE

Hover Effects

TRUE

Gradient Skin

{fbt_classic_header}

Update News:

latest

เรื่องจริงของเปาบุ้นจิ้น

เรื่องจริงของเปาบุ้นจิ้น

ด้วยความที่มีภูมิหลังดังกล่าว ซ้ำยังมีรูปสมบัติเป็นชายหนุ่มที่สง่างาม (เคยมีสื่อออนไลน์สำนักหนึ่งเผยแพร่ภาพของนักแสดงที่รับบทเป็นจั่นเจาเมื่อ ค.ศ.2015 ซึ่งอยู่ในวัยกลางคนแล้ว แต่ก็ยังรักษาหุ่นซิกซ์แพ็กของตนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี)
ตัวละครจั่นเจาจึงแสดงบทบาทในแบบจอมยุทธ์หนังกำลังภายในโดยตลอด จากบทบาทนี้ได้สร้างสีสันให้ละครชุด เปาบุ้นจิ้น น่าติดตามมากขึ้น
ตอนที่ละครชุดนี้แพร่ภาพใหม่ๆ เมื่อกว่า 20 ปีก่อนนั้น มีเพื่อนผู้หญิงทั้งที่เป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง และรุ่นเดียวกันต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่เธอติดตามละครชุด เปาบุ้นจิ้น อยู่นั้น นอกจากเพราะตัวละครเปาบุ้นจิ้นแล้ว แรงจูงใจที่สำคัญยังอยู่ที่ตัวละครจั่นเจาด้วย
คิดถึงเรื่องนี้ในตอนนี้แล้วก็อยากจะถามคุณเธอทั้งหลายว่า รู้สึกอย่างไรที่ตอนนี้จั่นเจายังรักษาหุ่นซิกซ์แพ็กเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่หุ่นของคุณเธอทั้งหลายกำลัง “ออก” ไปตามวัยอยู่ทุกขณะ
แต่ไม่แน่ใจว่าจะดีหรือไม่หากจะบอกว่า ในบรรดาตัวละครที่โดดเด่นนั้นดูเหมือนจะมีจั่นเจาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ไม่มีอยู่จริง ไม่มีแม้กระทั่งตำนานให้เล่าขาน จนกล่าวได้ว่าเป็นตัวละครที่โดดเด่นเพียงตัวเดียวที่ถูกแต่งขึ้นมาล้วนๆ และเพื่อการตลาดตรงๆ
อย่างน้อยการตลาดนั้นก็ประสบความสำเร็จในเมืองไทย เมื่อสาวน้อยสาวใหญ่ต่างก็ประทับใจในตัวจั่นเจาไปตามๆ กัน
หมดจากตัวละครที่แวดล้อมเปาบุ้นจิ้นแล้ว สุดท้ายก็คือตัวเปาบุ้นจิ้นเอง ที่กล่าวในแง่บทบาทที่อิงกับเรื่องจริงแล้วก็คงเป็นไปเช่นที่ละครนำเสนอ จะมีก็แต่เพียงบรรยากาศในศาลเท่านั้นที่เป็นไปโดยคาดว่าน่าจะเป็นเช่นที่ละครชุดนำเสนอ เพราะคงไม่มีใครล่วงรู้บรรยากาศจริงๆ ได้ แต่ผู้สร้างคงศึกษาได้ข้อมูลหรือเอกสารโบราณที่กล่าวถึงการพิจารณาคดีในอดีต ที่พอจะทำให้นึกภาพได้ว่า ในยุคที่เปาเจิ่งมีชีวิตอยู่นั้น บรรยากาศในการทำงานน่าจะเป็นอย่างไร
แต่มีรายละเอียดเรื่องหนึ่งที่พึงกล่าวในที่นี้ก็คือ เวลาที่ละครชุดแสดงให้เห็นถึงการพิจารณาคดีในศาลไคเฟิงนั้น จะมีอยู่ตอนหนึ่งที่ตัวละครไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย หรือฝ่ายที่มาสังเกตการณ์ก็ตาม พึงต้องให้ความเคารพต่อศาลด้วยการปฏิบัติตามระเบียบของศาล เช่น ไม่พึงมีกิริยาอื่นใดที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย หรือแสดงกิริยาที่ไม่พอใจหรือไม่ก็ไม่เห็นด้วยกับศาล หรือกับบุคคลใดที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ระเบียบเช่นนี้ยังมีอยู่มาจนทุกวันนี้แม้ในศาลสมัยใหม่ เวลาที่มีใครแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสม ผู้พิพากษาก็จะใช้ค้อนทุบบัลลังก์แล้วเตือนด้วยเสียงดังฟังชัดว่าให้ผู้นั้นอยู่ในความสงบ
หาไม่แล้วก็จะถูกเชิญออกไปหรือถูกลงโทษสถานใดสถานหนึ่งเนื่องจากละเมิดอำนาจศาล
แต่ในละครชุด เปาบุ้นจิ้น นั้นตัวของเปาบุ้นจิ้นไม่มีค้อนให้ทุบ มีแต่แท่งไม้ขนาดเหมาะมือให้ถือไว้ตบโต๊ะที่เป็นบัลลังก์ แท่งไม้ที่ถูกตบลงไปสื่อความหมายได้หลายความหมาย เช่น ให้เปิดหรือเลิกศาล ให้ทุกคนอยู่ในความสงบ หรือให้ปฏิบัติตามคำสั่งที่เปาบุ้นจิ้นได้ลั่นเป็นวาจาเอาไว้ เป็นต้น โดยทุกครั้งที่เปาบุ้นจิ้นใช้แท่งไม้ที่ว่าตบบัลลังก์พร้อมกับเปล่งเสียงเป็นคำสั่งที่เด็ดขาดนั้น เจ้าพนักงานศาลที่เรียงรายอยู่ 2 ข้างซ้ายขวาจะเปล่งเสียงที่ฟังได้ว่า “แว…วู…” อยู่เสมอ
เสียงที่ได้ยินจากละครชุดดังกล่าวที่ฟังได้เป็น 2 พยางค์นั้นคือคำว่า เวยอู่ ในภาษาจีนกลาง โดยคำศัพท์แล้วจะหมายถึง อำนาจ กำลัง อานุภาพ พลานุภาพ เป็นต้น
จากคำและความหมายที่ว่า เมื่อคำคำนี้ถูกนำมาใช้ในโรงในศาล หน้าที่ของคำจึงเป็นไปเพื่อสื่อให้ทุกคนในศาลตั้งตนอยู่ภายใต้อำนาจของศาล ห้ามทำในสิ่งที่ห้ามมิให้ทำ พึงทำในสิ่งที่พึงให้ทำ ใครที่ฝ่าฝืนจะถูกเปาบุ้นจิ้นเตือนด้วยเสียงอันดัง
พลันที่สิ้นเสียง เจ้าพนักงานศาลที่ยืนเรียงรายอยู่ 2 ข้างซ้ายขวาก็จะเปล่งเสียงผ่านคำดังกล่าวด้วยการลากเสียงยาวๆ ที่ละพยางค์ว่า “เวย…อู่…” เพื่อส่งสัญญาณหรือเตือนให้ผู้ที่อยู่ในศาลปฏิบัติตนตามคำสั่งที่เปาบุ้นจิ้นเปล่งหรือประกาศไป หาไม่แล้วก็อาจจะถูกลงโทษสถานใดสถานหนึ่ง
ที่เห็นเป็นโทษหนักไม่น้อยก็คือ การถูกโบยตีด้วยไม้พลอง จะเจ็บหนักมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับจำนวนที่ถูกตี และนี่ก็คือที่มาของคำเปล่งดังกล่าว
ดังที่ผู้ชมละครชุดฟังเป็น “แว…วู…” นั้นเอง
ที่กล่าวมาโดยตลอดนี้เป็นในส่วนที่ละครชุด เปาบุ้นจิ้น อิงกับเรื่องจริงหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยที่บทละครได้ดัดแปลงหรือปรับให้เรื่องจริงกลายเป็นเรื่องที่ถูกผูกขึ้นมาใหม่
ขึ้นชื่อว่าผูกเรื่องแล้วก็ย่อมผูกโดยตามใจผู้ผูก ว่าจะผูกอย่างไรก็ได้ ขอเพียงแต่ให้รักษาสารัตถะสำคัญของเรื่องเอาไว้ให้ได้ด้วยการไม่ผูกให้ออกลู่นอกทางไป
จากเหตุนี้ การผูกเรื่องขึ้นใหม่ในละครชุดนี้จึงไปไกลถึงชั้นนรกหรือสวรรค์ กล่าวได้ว่า ในเมื่อหาความยุติธรรมในโลกมนุษย์ไม่ได้ก็ต้องไปตามเอาที่นรกหรือสวรรค์
กรณีเช่นนี้ก็คือส่วนที่สองที่บทความนี้ได้กล่าวไปแต่แรก คือส่วนที่ไม่อิงกับเหตุการณ์จริงในสมัยราชวงศ์ซ่งแต่อย่างไร
แต่หากจะอิงกับเรื่องจริงแล้ว เรื่องจริงนั้นมักจะเป็นไปในเรื่องคติความเชื่อของชาวจีนที่ดำรงมานานนับพันปี คือดำรงมาก่อนและหลังราชวงศ์ซ่งเรื่อยมา และคติความเชื่อที่ถูกขับเน้นให้เห็นโดยตลอดในละครชุด เปาบุ้นจิ้น ก็คือ
ความกตัญญูรู้คุณคนและความซื่อสัตย์สุจริตของบุคคล

ที่ว่าเป็นคติความเชื่อนี้ก็เพราะจีนในอดีตนอกจากจะมีนักปราชญ์สร้างหลักคำสอนนี้ขึ้นโดยเชื่อว่า
หากบุคคลมีความกตัญญูและซื่อสัตย์แล้วสังคมก็จะมีแต่ความสุข

จีนยังรับหลักคำสอนจากศาสนาพุทธที่เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย ว่าหากบุคคลตั้งอยู่ในหลักธรรมทั้งสองแล้วก็จะมีชีวิตที่ดี หากไม่ตั้งอยู่ในหลักธรรมนั้นชีวิตก็จะถูกลงโทษลงทัณฑ์
จะเห็นได้ว่า ละครชุด เปาบุ้นจิ้น จะผูกเรื่องภายใต้สารัตถะนี้โดยตลอด แต่ละตอนของละครชุดนั้น สารัตถะดังกล่าวจะถูกผูกให้มีที่มาที่ไปที่พิสดารแตกต่างกันไป ในที่นี้จะยกตัวอย่างตอนหนึ่งของละครชุด เปาบุ้นจิ้น ที่เกี่ยวข้องกับกรณีเช่นนี้มาให้เห็น
ทั้งนี้ ขอกล่าวด้วยว่า ตัวอย่างที่จะยกมานี้มิเพียงจะพิสดารในแง่คดีความได้ที่ไปไกลถึงสวรรค์เท่านั้น หากยังเป็นตอนที่บทความนี้เห็นว่า ในบรรดาผู้ที่ก่อคดีในทุกตอนของละครชุดนี้นั้น ตอนนี้ถือเป็นตอนที่ผู้ก่อคดีโฉดชั่วกว่าทุกตอน เรียกว่าเลวทรามต่ำช้าอย่างที่จะหาตอนอื่นๆ มาเปรียบไม่ได้
ที่สำคัญ คนเขียนบทละครยังวางตัวละครที่โฉดชั่วผู้นี้ให้มีหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์อีกด้วย
ละครตอนที่ว่านี้คือตอน “อาญาสวรรค์” ตัวละครที่เล่นเป็นตัวโกงเป็นองค์ชายที่มีพฤติกรรมเลวทรามต่ำช้าอย่างมาก เช่น พอใจหญิงคนใดก็ฉุดเอาแม้หญิงนั้นจะมีเจ้าของแล้ว หรือเมื่อบริวารของตนทำอะไรไม่ถูกใจแม้เพียงเล็กน้อยก็จะใช้กำลังเข้าทำร้ายหรือไม่ก็ฆ่าทิ้งเสีย หรือใส่ร้ายป้ายสีคนที่ตนไม่พอใจหรือไม่ก็ถึงขั้นเข่นฆ่าให้ตายไป ฯลฯ
แต่พฤติกรรมเหล่านี้แม้จะถูกเปาบุ้นจิ้นจับได้คาหนังคาเขาพร้อมหลักฐาน แต่เปาบุ้นจิ้นกลับมิอาจลงโทษประหารได้ เพราะตระกูลขององค์ชายได้รับการปกป้องจากราชวงศ์ซ่งให้ปลอดพ้นจากโทษในคดีต่างๆ ไม่ว่าจะทำความผิดใดมาก็ตาม
และที่ทำให้ตระกูลขององค์ชายได้รับอภิสิทธิ์เช่นนี้ก็เพราะบรรพชนขององค์ชายได้ยอมสละสิทธิ์ที่จะครองราชย์ แล้วให้ตระกูลของจักรพรรดิองค์ปัจจุบันได้ครองราชย์แทน
จากเหตุนี้ จึงทำให้บรรพชนของจักรพรรดิที่ได้ครองราชย์จริงเป็นหนี้บุญคุณตระกูลขององค์ชาย และมีความเกรงใจจนต้องประกาศให้อภิสิทธิ์ในการอยู่เหนือกฎหมายดังที่เห็น แต่แม้จะให้อภิสิทธิ์ขนาดนั้น บรรพชนก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยทำอะไรให้เป็นที่เสื่อมเสีย จะมีก็แต่องค์ชายผู้นี้เองที่ทำให้เสื่อมเสีย
จะว่าไปแล้วก็ยังนับว่าโชคดีที่เรื่องที่ว่าถูกแต่งให้ออกมาแบบที่เห็น เพราะหากเป็นเรื่องจริง จีนก็คงฉิบหายไปทั้งแผ่นดินเป็นแน่
เพราะขนาดองค์ชายผู้นี้แม้จะได้อภิสิทธิ์ที่ว่า แต่ก็ไม่อาจก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิได้ (เพราะบรรพชนได้สละสิทธิ์นี้ไปแล้ว) ยังมีพฤติกรรมที่ต่ำช้าขนาดนี้ หากเกิดได้เป็นองค์รัชทายาทแล้วจะไม่สร้างความฉิบหายให้มากกว่าที่เป็นอยู่หรอกหรือ และยิ่งได้เป็นจักรพรรดิจริงด้วยแล้วก็คงจะยิ่งสร้างความฉิบหายหนักลงไปอีกเป็นแน่
อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว เปาบุ้นจิ้นที่แม้จะยืนหยัดดำรงความยุติธรรมของตนหนักแน่นมั่นคงเพียงใด แต่ในเมื่อมีราชโองการที่ถือเป็นกฎหมายไปด้วยเช่นนี้แล้ว เปาบุ้นจิ้นซึ่งยึดถือกฎหมายเป็นหลักก็ต้องให้ความเคารพโดยมิอาจปริปากอันใดได้
และทำให้มิอาจลงโทษองค์ชายผู้ต่ำช้าองค์นี้ได้ ได้แต่ต้องปล่อยตัวไป และเมื่อถูกปล่อยตัวไป องค์ชายก็ยังแสดงกิริยาที่ฮึกเหิมในอภิสิทธิ์ของตนด้วยการเย้ยหยันเปาบุ้นจิ้นและคนที่ในศาล
แต่ระหว่างนั้นเอง เปาบุ้นจิ้นได้แต่กึ่งอุทธรณ์กึ่งตัดพ้อต่อสวรรค์ในทำนองว่า เหตุใดสวรรค์จึงปล่อยให้คนชั่วเช่นองค์ชายผู้นี้ลอยนวลไปได้ทั้งที่กระทำผิดอย่างมหันต์ พลันที่สิ้นเสียงรำพันด้วยความสิ้นหวังของเปาบุ้นจิ้นเท่านั้น อัสนีก็ฟาดลงกลางร่างขององค์ชายและตายอย่างอเนจอนาถต่อหน้าทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ตายโดยที่ทุกคนต่างตระหนักว่านั่นคือ “อาญาสวรรค์” จริงๆ

คติความเชื่อ การผูกเรื่องขึ้นใหม่ในละครชุดนี้จึงไปไกลถึงชั้นนรกหรือสวรรค์ กล่าวได้ว่า ในเมื่อหาความยุติธรรมในโลกมนุษย์ไม่ได้ก็ต้องไปตามเอาที่นรกหรือสวรรค์  ความกตัญญูรู้คุณคนและความซื่อสัตย์สุจริตของบุคคล   
หากบุคคลมีความกตัญญูและซื่อสัตย์แล้วสังคมก็จะมีแต่ความสุข
นี้ก็เพราะจีนในอดีตนอกจากจะมีนักปราชญ์สร้างหลักคำสอนนี้ขึ้นโดยเชื่อว่า หากบุคคลมีความกตัญญูและซื่อสัตย์แล้วสังคมก็จะมีแต่ความสุข จีนยังรับหลักคำสอนจากศาสนาพุทธที่เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย หากบุคคลตั้งอยู่ในหลักธรรมทั้งสองแล้วก็จะมีชีวิตที่ดี หากไม่ตั้งอยู่ในหลักธรรมนั้นชีวิตก็จะถูกลงโทษลงทัณฑ์ จะเห็นได้ว่า ละครชุด เปาบุ้นจิ้น จะผูกเรื่องภายใต้สารัตถะนี้โดยตลอด

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ที่มา www.matichonweekly.com/column/article
FB Ptreetep Chinungkuro

ไม่มีความคิดเห็น